ริดสีดวงทวารภัยเงียบ ที่คนนั่งนานชาวออฟฟิศต้องรู้

ริดสีดวงทวารภัยเงียบ ที่คนนั่งนานชาวออฟฟิศต้องรู้

         ชาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานนานกว่าวันละ 8 ชั่วโมง นอกจากจะเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่า ไหล่ หลังแล้ว โรคที่เป็นภัยเงียบที่ควรระวังอีกโรคคือ โรคริดสีดวงทวารหนัก

         เพราะการที่นั่งทำงานนานๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนท่า ทำให้เกิดการกดทับไปอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณปากทวารหนัก ทำให้เลือดคั่งจนเกิดเป็นก้อนขึ้นมา

         ริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoids) คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโป่งพองบวมออกมา อาจเกิดภายในรูทวาร หรือยื่นนูนออกภายนอกรูทวารก็ได้

 

ริดสีดวงทวารหนัก มี 3 ประเภท

1. ริดสีดวงทวารหนักภายนอก

เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็น คลำได้ มักมีอาการเจ็บ และเลือดออก

2. ริดสีดวงทวารหนักภายใน

เกิดขึ้นเหนือรูเปิดทวารหนัก มองไม่เห็น คลำไม่ได้ และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุด ทำให้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด


แบ่งได้เป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 ติ่งริดสีดวงมีขนาดเล็ก มองไม่เห็น อาจมีเลือดออก หรือไม่มีก็ได้

ระยะที่ 2 ติ่งริดสีดวงโตมากขึ้น ทำให้มีติ่งยื่นออกมา แต่สามารถหดกลับเข้าไปเองได้

ระยะที่ 3 ติ่งริดสีดวงจะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีติ่งยื่นออกมาข้างนอกมากขึ้น แต่สามารถใช้นิ้วมือกดติ่งที่ยื่นกลับเข้าไปได้

ระยะที่ 4 ติ่งริดสีดวงอาจจะมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถกดเข้าไปได้ หรืออาจจะแตกออกมาเป็นติ่งหลายหัว มีอาการอักเสบ บวม ทำให้ผู้ที่เป็นระยะนี้นั่งไม่ได้

3. ริดสีดวงทวารหนักแบบผสม

เป็นทั้งภายนอก และภายใน ในคราวเดียวกัน

 

ตรวจเช็คอาการของริดสีดวง

·      มีเลือดออกหลังถ่ายอุจจาระ

·      มีติ่งริดสีดวงยื่นออกมาขณะถ่ายอุจจาระ

·      ทวารหนักเปียกแฉะ และมีอาการคันรอบๆ ปากทวารหนัก

·      มีการอักเสบ และเจ็บบริเวณทวารหนัก

·      เวลาคลำจะพบติ่งริดสีดวงบริเวณทวารหนัก

 

ปัจจัยการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก

1. การรับประทานอาหาร

เช่น รับประทานผัก ผลไม้น้อย ชอบทานแต่เนื้อสัตว์อย่างเดียว

2. การดื่มน้ำ

ดื่มน้ำน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ

3. วิถีการใช้ชีวิต

เช่น การนั่งเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การยกของหนัก การนั่งขับถ่ายนานๆ การเบ่งอุจจาระแรงๆ เป็นต้น

4. ท้องผูกบ่อย ท้องเสียเรื้อรัง

เพิ่มความดัน และมีการบาดเจ็บในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย

5. การมีเพศสัมพันธุ์ทางทวารหนัก

6. อายุ

ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆรอบหลอดเลือด รวมทั้งของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดหลอดเลือดจึงโป่งพองได้ง่าย

7. การตั้งครรภ์

เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดบวมพองได้ง่าย

 

การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารหนัก
           แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคริดสีดวงได้ด้วยตาเปล่าหากเป็นริดสีดวงภายนอก แต่โรคริดสีดวงภายในจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยอื่นๆ

·      การตรวจทางทวารหนัก
แพทย์จะสอดนิ้วผ่าน รูทวารเพื่อคลำหาก้อนเนื้อในลำไส้ตรง

·      การส่องกล้องตรวจทวารหนักและลำไส้ตรง
เป็นการตรวจด้วยการส่องกล้อง โดยใช้กล้องชนิดต่างๆ เพื่อตรวจส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ซึ่งคลำไม่ถึง

·      แพทย์อาจทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าอาการเกิดจากโรคอื่นของระบบทางเดินอาหาร มีปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือคนไข้วัยกลางคนและยังไม่ได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

 

แนวทางการรักษา

ริดสีดวงทวารภายใน มีการรักษา 2 แบบ

1. แบบไม่ผ่าตัด

     1.1 การรัดยาง การรัดยางเป็นการรักษาที่ไม่เจ็บมาก หลังจากรัดแล้วยางจะหลุดไปเอง แผลตรงที่รัดยางหดกลับไป ไม่ต้องเสียเลือด และไม่ต้องเย็บแผล

     1.2 การฉีดยา ช่วยให้เส้นเลือดแข็ง และหดไป แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการรัดยางแล้ว การรัดยางจะได้ผลที่ตรงจุดกว่า

     1.3 การเหน็บยา รักษาริดสีดวงเมื่อมีเลือดออกหรือมีการอักเสบให้อาการดีขึ้น

2. แบบผ่าตัด

     2.1 การผ่าตัด คือ ผ่าเอาติ่งเนื้อออกไป แล้วเย็บปิดปากแผล ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้น สามารถใช้น้ำล้างได้ปกติ

     2.2 รักษาด้วยเลเซอร์ เพื่อให้เลเซอร์เข้าไปทำลายริดสีดวง โดยไม่ต้องผ่าทวารหนักโดยตรง เลเซอร์เสร็จไม่ต้องเย็บแผล ไม่ต้องพักฟื้นนาน

     2.3 เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือใช้แล้วทิ้ง ใช้เวลาน้อยในการผ่าตัด แต่ต้องทำโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญ หลังการผ่าตัดใช้เวลาพักฟื้นแค่ 2-3 วัน และฟื้นตัวได้เร็ว

     2.4 การเย็บหลอดเลือดริดสีดวง เจ็บน้อย แต่ต้องบล็อกหลังและดมยาสลับก่อนผ่าตัดต้องเปิดแผลเข้าไปแล้วก็เย็บหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงริดสีดวงเพื่อให้หดหรือฝ่อลง

ริดสีดวงทวารภายนอก การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

1.    ริดสีดวงภายนอกส่วนใหญ่จะเป็นแล้วหายเอง ไม่อันตราย แต่เมื่อเบ่งแล้วเจ็บจนเกิดอาการอักเสบตามมา ซึ่งเป็นได้ทุกคนที่ติดนิสัยชอบเบ่ง หากเป็นแล้วไม่หายเอง ต้องเข้ารับการผ่าเพื่อเอาลิ่มเลือดออก

2.    เมื่อก้อนเนื้อมันเติบโตมากขึ้นก็ต้องผ่าตัด เพราะเมื่อถ่ายบ่อยๆ จะยิ่งเจ็บมากขึ้น ไม่ต้องรอให้เป็นเยอะแล้วค่อยมาพบแพทย์ก็ได้ สามารถมาตรวจได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ต้องผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น และต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะโรคทวารหนัก การผ่าตัดต้องดูเป็นรายบุคคลไป

 

การดูแลตัวเอง

          ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ห่างไกลภัยเงียบอย่างริดสีดวงทวารหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนักได้ เช่น

- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม และลูกพรุน ช่วยปรับสมดุลทำให้ระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ให้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ขับถ่ายได้ง่าย
- รับประทานผัก และผลไม้ให้หลากหลายมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสจัด เพราะกระตุ้นการอักเสบของริดสีดวงที่เป็นอยู่ 
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งกระตุ้นการอักเสบของริดสีดวง
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น ตามความต้องการของร่างกาย เพื่อให้สามารถขับถ่ายได้ง่าย การคำนวณปริมาณน้ำดื่มที่ควรทานต่อวัน สามารถคำนวณได้จากน้ำหนักตัวของผู้ดื่ม โดยจะนำน้ำหนัก (กิโลกรัม) x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ (มล.)
เช่น น้ำหนักตัว 45 x 2.2 x 30/2 = 1,485 มล. หรือ 1.5 ลิตร
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่าย ไม่ควรนั่งถ่ายนานๆ และไม่เบ่งอุจจาระแรงๆ
- ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้นหรือเบ่งถ่ายอุจจาระ
- เมื่อปัสสาวะ หรืออุจจาระเสร็จต้องล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย และหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษชำระเพื่อลดการระคายเคืองของริดสีดวงที่กำลังอักเสบอยู่
- แช่น้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy