เส้นเลือดขอด สังเกตเห็นก่อน ดูแลก่อน
เส้นเลือดขอด สังเกตเห็นก่อน ดูแลก่อน
ระบบไหลเวียนเลือดมีหลอดเลือดใหญ่ๆ 2 หลอด คือ หลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ
1. หลอดเลือดแดง (Artery)
มีหน้าที่นำเลือดดี ออกจากหัวใจไปเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
2. หลอดเลือดดำ (Vein)
มีหน้าที่นำเลือดเสียที่ร่างกายใช้แล้วจากส่วนต่างๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจ
ความแตกต่างระหว่างหลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดง คือ
· หลอดเลือดดำมีผนังบางกว่าหลอดเลือดแดง
· หลอดเลือดดำมีช่องว่างภายในมากกว่าหลอดเลือดแดง
· สีของหลอดเลือดดำจะมีสีคล้ำกว่าหลอดเลือดแดง
· หลอดเลือดดำมีลิ้น หลอดเลือดแดงไม่มีลิ้น
· ลิ้นของหลอดเลือดดำจะทำหน้าที่ปิดกั้นไม่ให้เลือดดำจากขาซึ่งจะต้องไหลย้อนต้านแรงโน้มถ่วงของโลกไหลย้อนกลับ โดยอาศัยแรงบีบของกล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้าเพื่อนำเลือดดำ ไหลกลับขึ้นสู่หัวใจ โดยไม่ย้อนกลับลงมาคั่งที่ขา
เส้นเลือดขอด (Varicose Vein) คือ ภาวะหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังขยายตัวผิดปกติ จนมองเห็นเป็นเส้นคล้ายใยแมงมุม หรือเห็นเป็นเส้นเลือดขดนูนขึ้น ภาวะเส้นเลือดขอดสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย แต่พบมากสุดที่บริเวณขา
เส้นเลือดขอดที่ขามี 2 ประเภท
1. เส้นเลือดฝอยขอด มีลักษณะคล้ายเส้นใยแมงมุม (Spider Veins) เป็นเส้นเลือดขอดที่ขาในระยะเริ่มต้น เกิดจากหลอดเลือดฝอยขดมองเห็นคล้ายใยแมงมุมสีม่วงหรือแดง ทั้งนี้ยังสามารถพบได้ที่ใบหน้า และมีขนาดที่แตกต่างกัน
2. เส้นเลือดขอดลักษณะคล้ายเส้นเลือดโป่ง (Varicose Veins) เนื่องจากผนังเส้นเลือดเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้เส้นเลือดนูนขึ้น ขดเป็นหยัก มองเห็นเป็นสีเขียว หรือสีม่วง
ระยะของเส้นเลือดขอด
ระยะที่ 1 เส้นเลือดขอดมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม มักมีขนาดน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร เห็นเส้นเลือดขอดเป็นสีเขียวๆ หรือฟ้าใต้ผิวหนัง
ระยะที่ 2 เส้นเลือดขอดเริ่มปูด เป็นตัวหนอน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 มิลลิเมตร
ระยะที่ 3 เริ่มมีอาการขาบวม และปวดมากขึ้นจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต
ระยะที่ 4 สีผิวที่ขาเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น มีภาวะอักเสบบนผิวหนัง ปล่อยไว้นานอาจเกิดแผล และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
ระยะที่ 5 แผลหายจากการรักษา แต่ยังมีลักษณะอื่นๆ ร่วม เช่น ผิวหนังที่เปลี่ยนสีเป็นสีดำ
ระยะที่ 6 เกิดแผลลักษณะเฉพาะของแผลบริเวณหลอดเลือดดำ เช่น ขอบแผลแดง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ทั้งทางร่างกาย และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น
1. อายุที่มากขึ้น
ลิ้นที่อยู่ภายในหลอดเลือดเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าไปสะสมในเส้นเลือดส่วนปลายจนกลายเป็นเส้นเลือดขอด
2. เพศ
ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงส่งผลต่อความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดดำที่น้อยลง
3. การรักษาด้วยฮอร์โมน
เช่น ยาคุมกำเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นเลือดขอด
4. กรรมพันธุ์
กรรมพันธุ์สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ หรือบุคคลในครอบครัวที่มีประวัติเป็นเส้นเลือดขอดได้
5. น้ำหนักเกินเกณฑ์
ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ส่งผลทำให้เกิดแรงกดดันต่อเส้นเลือด
6. พฤติกรรมการใช้ชีวิต
เช่น การยืน หรือนั่งเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดเส้นเลือดขอดได้มากขึ้น
7. การใส่รองเท้าส้นสูง
ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี รวมถึงการนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ ทำให้เส้นเลือดบริเวณขาถูกกดทับ
8. อื่นๆ
เช่น การมีภาวะที่กดดันช่องท้องอาจทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ เช่น การตั้งครรภ์ ท้องผูก เนื้องอก เป็นต้น
สังเกตสัญญาณเตือนของภาวะเส้นเลือดขอดง่ายๆ
1. เส้นเลือดที่ขามีสีม่วงเข้ม หรือสีน้ำเงินปรากฏขึ้น
2. เส้นเลือดมีลักษณะขดและโป่งพองออกมาเป็นเส้นบริเวณน่อง
3. รู้สึกเจ็บ ปวด บริเวณขา และน่อง
4. รู้สึกว่าขาหนัก หรืออึดอัดบริเวณขา
5. มีอาการแสบร้อน ปวดกล้ามเนื้อ และข้อเท้าบวม
6. อาการปวดแย่ลงหลังจากนั่ง หรือยืนเป็นเวลานาน
7. ผิวบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดจะแห้ง คัน รอบเส้นเลือด
8. มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวรอบเส้นเลือดขอด
หากใครมีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบดูแลตนเอง แม้เส้นเลือดขอดที่ขาส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย และไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
การรักษา
ขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของภาวะเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้น
1. การรักษาแบบประคับประคอง
แนะนำให้ใช้ถุงน่องชนิดพิเศษที่มีระดับความแน่น (Pressure Gradient) แตกต่างกันไล่ระดับจากเท้าที่แน่นที่สุด และลดหลั่นลงเมื่อสูงขึ้นเพื่อให้เลือดไหลกลับจากส่วนปลายขึ้นมาได้ดี
2. การฉีดสารเคมีที่เส้นเลือดขอด
ฉีดสารพิเศษเพื่อปรับให้เส้นเลือดขอดที่โป่งพองขึ้นมา หดตัวยุบตัวลง
3. การใช้เลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง
ใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วอาศัยพลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อตัวลง
4. การผ่าตัด จะใช้ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่
การป้องกันเส้นเลือดขอด
· ออกกำลังกาย เช่น การเดิน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาดีขึ้น
· ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
· เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการนั่ง หรือยืนนานๆ
· บริหารข้อเท้าขณะนั่ง โดยเหยียดปลายเท้า และกระดกปลายเท้าสลับกันตามเข็ม และทวนเข็มนาฬิกา เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด
· นอนยกขา ในความสูงระดับหัวใจ หรือสูงกว่านั้น พร้อมทั้งกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง เพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น เลือดกลับหัวใจได้ดีขึ้น ทำให้ความดันในหลอดเลือดดำที่ขาลดลง และแรงโน้มถ่วงจะช่วยให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจได้อย่างดี
· นวดขา หรือน่องเบาๆ ช่วยให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ดีขึ้น และเป็นการคลายกล้ามเนื้อที่ตึง โดยสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ที่อ่อนโยน และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความผ่อนคลายทั้งร่างกาย และจิตใจ
· หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป โดยเฉพาะรอบเอว ขาหนีบ และขาท่อนบน เนื่องจากอาจทำให้เลือดไหลเวียนกลับไปยังหัวใจไม่ดีเท่าที่ควร
· สวมถุงน่องป้องกันเส้นเลือดขอดช่วยพยุง ซึ่งช่วยเพิ่มแรงกดเล็กน้อย เพื่อเพิ่มแรงดันต่อกล้ามเนื้อขาและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ผลการศึกษาในปี 2018 พบว่าผู้ที่ใช้ถุงน่องป้องกันเส้นเลือดขอดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ อาการปวดเมื่อยจากเส้นเลือดขอดลดลง