ต่อมลูกหมากโตกับแพทย์แผนปัจจุบัน

ต่อมลูกหมากโต คืออะไร

           ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในเพศชาย จะทำหน้าที่สร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเมล็ดเกาลัด ไม่สามารถมองเห็นหรือคลำจากภายนอกร่างกายได้

             ต่อมลูกหมากโต คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่ในบริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากทำหน้าที่สร้างสารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ  ซึ่งต่อมลูกหมากจะห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ ดังนั้นเมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นก็ไปกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง จึงส่งผลให้คนไข้มีอาการปัสสาวะติดขัด ต่อมลูกหมากโตอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะมีความหนาขึ้น เพราะต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับน้ำปัสสาวะให้ผ่านท่อแคบๆ และเมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้น ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บน้ำปัสสาวะลดลง ทำให้ปัสสาวะบ่อย และอาจทำให้ปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหันได้

 



อาการของโรคต่อมลูกหมากโต

1. ปัสสาวะไหลอ่อน หรือสะดุดเป็นช่วงๆ

2. ปัสสาวะออกช้า

3. ปัสสาวะเล็ดหลังปัสสาวะเสร็จ

4. ปวดปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ

5. ปัสสาวะไม่สุด ออกยากต้องเบ่ง

6. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่


สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต

โดยทั่วไปต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากอายุ 20 ปี จนกระทั่งอายุประมาณ 40 ปี จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งเกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่และทำให้เกิดความผิดปกติต่อทางเดินปัสสาวะ มักพบในผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป

 



ปัจจัยเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมากโต

1.  อายุที่มากขึ้น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีอาการปานกลางถึงรุนแรงก่อนวัย 60 ปี และจะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงวัย 80 ปีขึ้นไป

2.  ติดเชื้อในต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากอักเสบ อาจทำให้ลูกหมากบวมช้ำ และเป็นผลให้เกิดต่อมลูกหมากโต

3.  การใช้สมุนไพรบางอย่าง การใช้สมุนไพรในการเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย และกำลังอยู่ในการรักษาด้วยวิธีให้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งอาจทำให้ลูกหมากโตได้

4.  ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ โรคเบาหวานและโรคหัวใจ การใช้เบต้าบล็อกเกอร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่อมลูกหมากโตได้


การตรวจวินิจฉัย "โรคต่อมลูกหมากโต"
   การวินิจฉัยจะใช้การซักประวัติและอาการของผู้ป่วยเป็นหลักเพื่อหาสาเหตุ เพราะมีโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายกัน ตัวอย่างเช่น โรคต่อมลูกหมากอักเสบ นิ่วในระบบปัสสาวะ  ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือแม้แต่มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ที่ช่วยวิเคราะห์จำแนกโรคให้จากประวัติและอาการเบื้อต้น และพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามความจำเป็นเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ประเมินภาพอวัยวะภายในด้วย  เป็นต้น

 
แนวทางการรักษา ต่อมลูกหมากโต
           การรักษากรณีที่เป็นต่อมลูกหมากโต จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อาการน้อย อาการปานกลาง และอาการรุนแรง ในกลุ่มที่มีอาการน้อยถึงอาการปานกลาง การรักษาสามารถใช้การรักษาทางยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากไม่ได้ผลดีมากหรือมีอาการรุนแรง รวมถึงกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น ปัสสาวะไม่ออก ติดเชื้อ หรือมีเลือดออกจากต่อมลูกหมากแล้วเป็นซ้ำบ่อยๆ ไม่หายขาด ควรรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันวิธีการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตที่เป็นมาตรฐานสากล ก็คือการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตโดยการส่องกล้อง



การรักษาอาการต่อมลูกหมากโตด้วยยา
-   ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha blockers) ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อในต่อมลูกหมาก ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ ได้แก่ ยาอัลฟูโซซิน (alfuzosin) ยาโดซาโซซิน (doxazosin) ยาแทมซูโลซิน (tamsulosin) และยาซิโลโดซิน (silodosin) ออกฤทธิ์ได้ดีในผู้ป่วยที่ขนาดต่อมลูกหมากค่อนข้างเล็ก โดยการรับประทานยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ หรือมีภาวะอุสจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งไม่เป็นอันตราย

-    5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5 Alpha Reductase Inhibitor) ยากลุ่มนี้จะทำให้ต่อมลูกหมากหดตัวลง โดยจะไปยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทําให้ต่อมลูกหมากโต ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาฟินาสเตอไรด์ (finasteride) และยาดูตาสเตอไรด์ (dutasteride) ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนจึงจะเห็นผล และผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ความต้องการทางเพศลดลง

-   การใช้ยาหลายๆชนิดร่วมกัน แพทย์อาจแนะนําให้รับประทานยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ และ 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์พร้อมกัน หากการรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ได้ผล

 
การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีการส่องกล้อง
          การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านทางกล้อง ปัจจุบันมีทางเลือกในการทำการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตโดยการใช้เลเซอร์ที่เรียกกันว่า เลเซอร์ต่อมลูกหมาก (Laser Resection หรือ Laser Vaporization of Prostate) ซึ่งคือการส่องกล้องเข้าไปตัดทำลายเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก ส่วนที่ขวางการไหลของน้ำปัสสาวะ รวมถึงห้ามเลือดโดยใช้พลังงานความร้อนจากลำแสงเลเซอร์แทนการใช้ไฟฟ้า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เนื้อเยื่อบริเวณตำแหน่งที่ทำการผ่าตัดจะระเหิดหายไปพร้อมกับมีการหยุดห้ามเลือดไปด้วยได้ไปพร้อมกัน

 


 




 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy