อาการวิงเวียนศีรษะตาลาย กับทางการแพทย์แผนจีน
อาการวิงเวียนศรีษะตาลาย เป็นอาการที่หลายคนมักพบเจอลักษณะของอาการวิงเวียนจะเหมือนสิ่งรอบตัวหมุน และอีกลักษณะคือรู้สึกเหมือนโคลงเคลง หน้ามืดเหมือนจะวูบ หรือเรียกว่า อาการบ้านหมุนมักพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ในมุมมองของทางการแพทย์แผนจีนนั้น อาการวิงเวียนศรีษะตาลาย มีตำแหน่งการเกิดโรคอยู่ที่บริเวณสมอง อวัยวะที่เกี่ยวข้องคือม้าม ตับและไต สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศรีษะตาลาย การได้รับลมจากภายนอกไปกระทบศรีษะ อาจเป็นลมร้อน หรือ ลมเย็น
เมื่อมีลมไปกระทบศรีษะมากไปก็สามารถทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ และสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากอารมณ์เครียด หรืออารมณ์หงุดหงิดที่มีมากเกินไปส่งผลทำให้ชี่ภายในติดขัด จนทำให้แปรเปลี่ยนเป็นไฟความร้อนจนทำให้เกิดลมเคลื่อนสู่ด้านบนอย่างฉับพลันทำให้ทวารสมองถูกรบกวน และการชอบรับประทานอาหารจำพวกรสหวาน และมันในปริมารมากเกินไป มีผลต่อการอุดกั้นการทำงานของม้าม ทำให้เกิดเสมหะอุดกั้นบริเวณส่วนกลางของร่างกาย(中焦)รวมถึงการเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมากเกินไปหรือพื้นฐานของร่างกายอ่อนแอจนทำให้ชี่และเลือดไม่เพียงพอ ทำให้สมองขาดการหล่อเลี้ยงจึงส่งผลทำให้เกิดอาการวิงเวียนศรีษะตาลายได้เช่นกัน
โดยการแพทย์แผนจีนจะวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการของโรคออกเป็น 5 ประเภทดังนี้
1. หยางตับแกร่ง เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนมากมักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
อาการแสดง : วิงเวียนศรีษะ จะมีอาการมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์โกรธ ปวดแน่นบริเวณศรีษะและดวงตามีเสียงในหู ปากขม นอนไม่หลับ ฝันมาก ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองชีพจรตึง
2. ชี่และเลือดไม่เพียงพอ พบได้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ และโลหิตจาง
อาการแสดง : วิงเวียนศรีษะ ถ้าทำงานหรือถ้าพักผ่อนไม่เพียงพออาการจะเป็นมากขึ้น และมีอาการบ่งบอกว่าเลือดลม ไม่เพียงพอ เช่น หน้าซีด ลิ้นซีด ริมฝีปากซีด เส้นผมไม่มีประกาย นอนไม่หลับ ใจสั่น อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ค่อยลง ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรเล็กไม่มีแรง
3. จิงของไตไม่เพียงพอ กลุ่มนี้จะพบมากในผู้สูงอายุ
อาการแสดง : วิงเวียนศรีษะเป็นมาระยะเวลานาน มีอาการเมื่อยเอวเข่าอ่อน ไม่สดชื่น นอนไม่หลับฝันมาก หลงลืมง่าย อาจมีเสียงดังในหู ลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็ว หรือ สีหน้าซีดขาว กลัวหนาวมือเท้าเย็น ลิ้นอ่อนนุ่ม ฝ้าขาว ชีพจรอ่อนแอ
4. เสมหะความชื้นอุดกลั้น พบในผู้ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือมีอาการวิงเวียนศรีษะที่เกิดจากศูนย์กลางประสาท
อาการแสดง : วิงเวียนศรีษะ หนักและมึนศีรษะ มองเห็นทุกสิ่งหมุนไปหมด แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียนเป็นน้ำลายเหนียว รับประทานอาหารได้น้อย ลิ้นฝ้าขาวเหนียว ชีพจรนุ่ม
หลักในการรักษาของทางแพทย์แผนจีนเกี่ยวกับอาการวิงเวียนศรีษะตาลาย จะเน้นในการปรับสมดุลของอวัยวะภายในและปรับยิน-หยางให้อยู่ในภาวะสมดุล ใช้ตำรับยาลิ่วเว่ยตี้หวงหวานในการรักษาอาการมึนหัว เวียนศีรษะ ตาลาย หูอื้อ เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำอสุจิไหลไม่รู้ตัว ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กระหายน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง ลิ้นแดง
ในตำรับลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน ประกอบไปด้วยตัวยา 6 ชนิด ได้แก่
สูตี้หวง หรือ โกฎขี้แมว เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ตับ ไต มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย สรรพคุณ บำรุงอิน บำรุงไต บำรุงเลือด นิยมใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการวิงเวียน นอนไม่หลับ หูอื้อ เหงื่อออกตอนกลางคืน ปวดเมื่อยเอวและเข่า
ซันจูหวี เข้าเส้นลมปราณ ตับไต รสเปรี้ยว ฝาด ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย สรรพคุณ บำรุงหยินในตับ บำรุงไต บรรเทาอาการวิงเวียน หูอื้อ อาการปวดเมื่อยบริเวณเอว ช่วยในเรื่องลดความดันโลหิต อาการรู้สึกร้อนจากข้างในร่างกายในผู้ป่วยเบาหวาน
ซันเย้า หรือ ฮ่วยซัว เข้าเส้นลมปราณม้าม ปอด ไต รสหวาน ฤทธิ์สุขุม สรรพคุณบำรุงหยินในม้าม บำรุงปอด บำรุงกระเพาะอาหาร บำรุงไต ใช้รักษาอาการตกขาว ฝันเปียก ปัสสาวะบ่อย หอบหืด เบื่ออาหาร คนที่เป็นโรคเบาหวาน
จื่อเซี่ย เข้าเส้นลมปราณไต กระเพาะปัสสาวะ รสหวานจืด ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ขับความชื้น ระบายความร้อน ทำให้เลือดเย็นลง ลดอาการบวมน้ำ ปัสสาวะขัด บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ
ฟูหลิง หรือ โป่งรากสน เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ปอด ม้าม ไต รสจืดอมหวาน ฤทธิ์สุขุม สรรพคุณ บำรุงม้าม ขับความชื้น ขับปัสสาวะ สงบจิตใจ รักษาอาการบวมน้ำ ปัสสาวะขัด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ
หมู่ตันผี หรือเปลือกรากโบตั๋น เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ตับ ไต รสขม เผ็ด ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย สรรพคุณขับพิษร้อน ทำให้เลือดเย็น สลายเลือดคั่ง นิยมใช้ในผู้ป่วยผดผื่นแดงผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล ฟกช้ำจากแรงกระแทก
นอกจากสมุนไพรในตำรับลิ่วเว่ยตี้หวงหวานจะช่วยในเรื่องของการรักษาอาการวิงเวียนได้ดีแล้วนั้น ยังมีสมุนไพรจีนตัวอื่น ที่มีสรรพคุณช่วยกระจายชี่ของตับ อย่างเช่น ฉายหู ในการรักษาคนไข้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ตาลาย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายอีกด้วย
ฉือสือ หรือชื่อภาษาไทยเรียกสินแร่แม่เหล็ก มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย มีสรรพคุณในการบำรุงอิน บำรุงเลือด นำรุงธาตุน้ำ สารจำเป็น และไขกระดูก ในการช่วยเรื่องอาการ หูมีเสียง วิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยอ่อนแรงที่เอวและหัวเข่า ผมหงอกก่อนวันอันควรได้เช่นกัน
อาการวิงเวียนศรีษะตาลายเป็นอาการที่เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ นอกจากการดูแลรักษาด้วยยาสมุนไพรแล้ว ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงและปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการวิงเวียนศรีษะ เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ที่ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงชั้นหูได้น้อยลง และควรปรับเปลี่ยนท่าทางการเคลื่อนไหวให้ช้าลง เพื่อลดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ที่สำคัญผู้ป่วยควรลดภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน และถ้าหากผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนศรีษะตาลายบ่อยครั้งมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาเพื่อที่จะได้รักษาได้ถูกต้องตามอาการ
แพทย์จีนอิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์