อาการฉี่บ่อยตอนกลางคืน กับการแพทย์แผนจีน
ในหลาย ๆ คน ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะตอนกลางคืนนั้น โดยปกติแล้วในหนึ่งวันคนเราจะเข้าห้องน้ำปัสสาวะโดยเฉลี่ย ประมาณ 5-7 ครั้ง โดยแบ่งปัสสาวะออกเป็นช่วงกลางวันนั้น 3-5 ครั้ง และช่วงตอนเย็น และก่อนเข้านอนนั้นประมาณอีก 1-2 ครั้งเท่านั้น โดยปกติคนที่มีร่างกายแข็งแรงจะนอนนานตลอดทั้งคืนโดยไม่ลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกเลย หากใครมีจำนวนครั้งในการปัสสาวะบ่อยกว่าที่กล่าวมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืนต้องลุกเข้ามาห้องน้ำแล้วด้วยนั้น อาจจะเป็นสัญญานเตือนบางอย่างของโรคบางโรคได้
ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะบ่อย ที่มักพบได้บ่อย
1. โรคเบาหวาน การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
2. โรคไตเรื้อรัง การทำงานของไตที่เสื่อมลงอาจจะทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย
3. ต่อมลูกหมากโต ในผู้ชายทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยได้อาจมีอาการร่วมคือปัสสาวะลำบากต้องเบ่งและคอยนานกว่าปัสสาวะจะออกมา เป็นต้น
อาการปัสสาวะบ่อย ทางการแพทย์แผนจีนนั้น เรียก niao pin สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไตอ่อนแอ สารจำเป็นไม่เพียงพอ ลมปราณม้ามพร่อง ส่งผลทำให้เส้นลมปราณและหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณกระเพาะปัสสาวะนั้นอ่อนแอ ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ปกติ ประกอบกับพิษร้อนชื้นภายในร่างกายที่มาสะสมอยู่บริเวณนั้น ทำให้ลมปราณกระเพาะปัสสาวะเกิดการติดขัด ทำให้ปัสสาวะขัดได้ง่ายอีกด้วย
แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์แผนจีนนั้น สามารถแบ่งแยกโรคตามมาเหตุที่ต่างกันได้ดังนี้
1. ไตหยินพร่อง
อาการแสดง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะสั้น ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะมีลักษณะประปิปกระปอย
อาการแสดงร่วม หน้ามืดตาลาย หูอื้อ หน้าแดง นอนไม่หลับ ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน เหงื่อออกตอนกลางคืน
การรักษา ด้วยสมุนไพรประเภทที่มีฤทธิ์บำรุงไต ควบคุมปัสสาวะให้ปกติ
2. กระเพาะปัสสาวะร้อนชื้น
อาการแสดง ปัสสาวะน้อย สีเหลืองเข้ม ปัสสาวะแสบร้อน ปวดขัด
อาการแสดงร่วม มีไข้ ปวดท้องน้อย คอแห้ง ปากแห้ง ลิ้นแดง
การรักษา ต้องใช้สมุนไพรประเภทที่มีฤทธิ์ขับชื้นระบายร้อนเป็นหลัก
3. ลมปราณไตไม่กักเก็บ
อาการแสดง ปัสสาวะบ่อย ยืนนาน ควบคุมปัสสาวะไม่ได้
อาการแสดงร่วม หน้าซีด มึนหัวหูอื้อ หายใจหอบสั้น เอวหัวเข่าไม่มีแรง
การรักษา เน้นอุ่นบำรุงไต บำรุงลมปราณเป็นหลัก เพื่อควบคุมปัสสาวะให้ปกติ
แนวทางการรักษาในแพทย์แผนจีนเน้นการปรับสมดุลอวัยวะภายใน และบำรุงอวัยวะไตเป็นหลัก อาการปัสสาวะบ่อยนั้นเน้นการปรับการทำงานของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องโดยตรง นั่นก็คือไต ทำให้ไตแข็งแรงและทำงานกันอย่างสมดุลเพื่อควบคุมภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอาการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ด มีอาการปวดเมื่อขับปัสสาวะ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
สมุนไพรจีนตัวหนึ่งในประเทศจีนที่นิยมใช้ และมีชื่อเสียงในการรักษากลุ่มอาการของต่อมลูกหมากนั้นก็คือ ผงเกสรดอกไม้จากต้น brassica campritris 油菜花粉 เป็นสมุนไพรในบัญชียาของประเทศจีน ที่ใช้รักษา ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ เพื่อบรรเทาดูแลอาการปัสสาวะบ่อยที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ในทางการแพทย์แผนจีนถือเป็นสมุนไพรบำรุงไต ที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน
ซึ่งมีการวิจัยรองรับในผู้ป่วยต่อมลูกหมากในเพศชาย พบว่าให้ผลการรักษาอาการต่อมลูกหมากที่เกิดขึ้นนั้นได้ดี ขนาดของต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลง และอาการที่เกี่ยวกับปัสสาวะดีขึ้นอีกด้วย โดยวัดค่าจากค่า IPSS Q MAXและ QOL ที่เป็นมาตรฐาน
IPSS คือ แบบสอบถามมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินอาการผู้ป่วยที่วินิจฉัยโรคต่อมลูกหมาก
Q MAX คือ อัตราการไหลสูงสุดของปัสสาวะ
QOL คือ แบบประเมินคุณภาพการใช้ชีวิต
จากตัวอย่างงานวิจัยในผู้ป่วยต่อมลูกหมากอักเสบหนึ่ง ประเทศจีน พบว่า เพศชาย จำนวน 174 คน รักษาโดยการให้ทานสมุนไพรเกสรดอกไม้ จำนวน 4 เม็ด วันละ 3 ครั้งนั้น พบว่า หลังทานต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ ค่าดัชนี NIH-CPSI หรือค่าดัชนีสุขภาพ ของสถาบันแห่งชาติที่ใช้วัดต่อมลูกหมากอักเสบ พบว่าผลการรักษานั้นดีขึ้น เมื่อเทียบกันระหว่างก่อนทานและหลังทานผงเกสรดอกไม้จากต้น brassica campritris 油菜花粉 มีรสเผ็ดหวาน ฤทธิ์สุขุม เข้าเส้นลมปราณปอด ตับ และม้าม มีสรรพคุณ
กระจายชี่เลือด ช่วยให้เลือดเย็นลง ขับพิษ ลดบวม ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีการอักเสบของต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากโต เพื่อบรรเทาอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาภาวะถ่ายเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ไฟลามทุ่ง ฝีหนอง ฝีที่เต้านม ผื่นคัน ได้อีกด้วย
การรับประทานน้ำในปริมาณมาก ก็อาจจะทำให้ไตขับปัสสาวะออกมาบ่อยคครั้งได้เช่นกันแต่นั้นเป็นการเกิดขึ้นได้ชั่วคราว หากใครมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่แรง ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ ที่ไม่ได้มาจากสาเหตุการรับประทานน้ำที่มากเกินนั้น อาจจะต้องเข้ารับการตรวจจากคุณหมอเพื่อหาต้นเหตุของอาการนี้ต่อไปเพื่อได้รับการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีค่ะ
แพทย์จีนอิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์