อาการแบบนี้ ออฟฟิศซินโดรม หรือเปล่า?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) เนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ เริ่มแรกคือ รู้สึกปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบริเวณหลัง การนวดอาจจะช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะกลับมาเป็นอีก และเป็นเรื้อรังมากขึ้น ซึ่งอาการปวดดังกล่าวอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง ยุคสมัยนี้ โรคออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ดูจะเป็นโรคที่คนยุคใหม่เป็นกันมากพอสมควร ด้วยพฤติกรรมการทำงาน และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เราไม่ค่อยเน้นการยืน เดิน เคลื่อนไหว หรือออกแรงเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือก้มดูมือถือนาน ๆ แทน





อาการแบบไหน ออฟฟิศซินโดรม

  • ปวดหลังเรื้อรัง : เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม จากการยืนหรือนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น การนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมง นั่งไม่ถูกท่า นั่งหลังค่อม อาจทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ เมื่อย เกร็งอยู่ตลอด รวมถึงงานที่ต้องยืนเป็นเวลานาน
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง : ปวดศีรษะหรือปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียด หรือการที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ๆ
  • อาการปวดตา : ปวดตา ตาพร่า ตาแห้ง จากการใช้สายตาจ้องจอมือถือ จองคอมพิวเตอร์ หรือใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานาน
  • ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด : ปวดตึงกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง มักมีอาการปวดแบบกว้างๆ ซึ่งไม่สามารถชี้จุด ตำแหน่งที่ปวดได้อย่างชัดเจน เช่น ต้นคอ บ่า ไหล่ สะบัก ส่วนใหญ่จะเป็นหลังนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ
  • มีอาการชาข้อมือ นิ้วล็อค : นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ และจับเมาส์เป็นเวลานาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาท และเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วหรือข้อมือล็อคได้

 


ใครมีโอกาสเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้บ้าง

1. ผู้ที่ทำกิจกรรมหรือทำงานลักษณะเดิม ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน เช่น
  • พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่ค่อยได้ลุกไปไหน
  • พนักงานขาย ที่ต้องยืนขายตลอดทั้งวัน (โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง)
  • คนขายกาแฟโบราณ ที่ต้องยืนชงกาแฟ โดยออกแรงใช้มือและแขนข้างเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน
  • พนักงานขับรถ ที่ต้องนั่งขับรถอยู่เป็นเวลานาน ๆ


2. ผู้ที่มีอาการปวด ในช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับเวลาทำงาน และอาการดีขึ้นหรือไม่มีอาการในวันที่หยุดพัก

3. ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ เป็นต้น

4. มีเวลาพักผ่อนน้อย หรือไม่ได้พักผ่อน

5. มีความเครียดจากการทำงานสูง หรืออยู่ในสภาพสังคมการทำงานที่เป็นพิษ

6. ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ พอรักษาหรือยืดกล้ามเนื้อแล้ว อาการก็ดีขึ้นชั่วคราว แต่สักพักก็กลับมาเป็นอีก มักมีอาการบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ ต้นคอ สะบัก ส่วนหลัง

7. มีอาการปวดร้าวไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดร้าวไปที่ไหล่หรือแขน ปวดร้าวลงขา สัมพันธ์กับท่าทางของเรา

8. ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

9. ทำงานในลักษณะที่ต้องใช้แรงเป็นประจำ เช่น งานแบกหาม งานลาก ยก หรือเข็นวัสดุสิ่งของ
 




วิธีการแก้อาการ ออฟฟิศซินโดรม ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

1. การจัดท่านั่งทำงานที่เหมาะสม 
ปรับระดับความสูงของโต๊ะทำงานให้มีความเหมาะสม ในระดับสายตา ไม่ควรนั่งเอนหลังหรือหลังค่อม ควรจะนั่งหลังตรง ซึ่งไม่เพียงช่วยลดอาการปวดหลัง แต่ยังทำให้สุขภาพหมอนรองกระดูกดีขึ้นอีกด้วย

2. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ 
หากเริ่มรู้สึกปวดเมื่อย ควรปรับเปลี่ยนท่าทางทำงานอยู่เสมอ  อย่างการลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศมองวิวออกไปข้างนอกบ้าง ไม่ควรทำงานติดกันนานๆ หรืออยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ เป็นระยะเวลานานเกินไป อาจปรับเปลี่ยนท่านั่งอย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือควรใส่อุปกรณ์ช่วยในการพยุงหลังเพื่อลดอาการปวดเมื่อยร่วมด้วย

3. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ 
หมั่นออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสม การออกกำลังกาย เป็นการขยับร่างกายให้กล้ามเนื้อได้ยืดหยุ่นผ่อนคลาย เตรียมความพร้อมร่างกาย ป้องกันอาการบาดเจ็บจากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ  และช่วยผ่อนคลายความเครียด สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้อีกด้วย

4. การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
การนวดโดยใช้ครีมแก้ปวด แปะแผ่นเจลประคบ รับประทานยาแก้ปวด และใส่อุปกรณ์พยุงหลังช่วยลดอาการปวดร่วมด้วย

 
สรุป
ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คนยุคใหม่เป็นกันมากพอสมควร ด้วยพฤติกรรมการทำงาน และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ออฟฟิศซินโดรมเป็นอาการที่แม้จะไม่ได้เสี่ยงถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญ และสามารถลุกลามไปยังกล้ามเนื้อหรือกระดูกส่วนอื่น ๆ ได้ ยิ่งปล่อยไว้นาน จะยิ่งทรมาน ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิต รวมถึงสภาพจิตใจ

การรักษาออฟฟิศซินโดรม สามารถเริ่มได้ที่ตัวของเราเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ ลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ บริหารกล้ามเนื้อบ้าง และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน หาวิธีลดความเครียดลงบ้าง ซึ่งจะเป็นแนวทางการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมที่ยั่งยืนที่สุด

นอกจากการรักษา หรือป้องกันด้วยตัวเองแล้ว หากมีอาการมากจริง ๆ ควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษาที่เน้นให้อาการทุเลาลงแบบระยะสั้น เช่น การนวดผ่อนคลาย การใช้ยารักษา ใส่อุปกรณ์ป้องกัน และลดอาการออฟฟิศซินโดรม ไปจนถึงการรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู การทำกายภาพบำบัด และการบูรณาการแนวคิดการรักษา รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยอีกด้วย



 



 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy