5 เมนูบำรุงสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

 

 

             ศาสตร์การรักษาทางแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์ที่ใช้รักษาชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน และมีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่า 5,000 ปี ในการรักษาทางหลักการทางแพทย์แผนจีน ไม่ได้มีเพียง การฝังเข็ม รมยา และการจ่ายยาสมุนไพรเท่านั้น แต่ยังมีหลักการป้องกันโรค ตามหลักการแพทย์แผนจีน คือ การรักษาโรคตั้งแต่ที่ยังไม่เกิดโรค(治未病)(Preventive treatment) เป็นวิธีที่ชาวจีนสมัยโบราณ ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันเพื่อบำรุงดูแลสุขภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยนำแนวคิดจากทฤษฎียิน-หยาง และทฤษฎีปัญจธาตุ มารวมกัน และนำไปสู่การรักษารวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรค

            การส่งเสริมสุขภาพในศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า อาหารและยามีที่มาเดียวกัน กล่าวคือ อาหารและยามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กันอย่างใกล้ชิด โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย(正气)และเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และยังสามารถ ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย หลังจากการรักษาได้อีกด้วยการเลือกรับประทานอาหาร จึงมีความสำคัญมากในการช่วยส่งเสริมสุขภาพที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่สมัยโบราณจนมาถึงปัจจุบัน การดูแลสุขภาพจึงเป็นหลักพื้นฐานสำคัญของชีวิต ยกตัวอย่างเมนูอาหารจากยาสมุนไพรจีนตามหลักการแพทย์แผนจีน 5 ประเภท ที่เราสามารถทำได้ง่าย ๆ จากที่บ้านโดยจะเน้นในการบำรุงร่างกายเป็นหลัก ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานทางการแพทย์แผนจีนเพื่อดูแลรักษาให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง


1.ซุปไก่ตังกุย ช่วยในเรื่องของการบำรุงเลือดและบำรุงพลังลมปราณ รวมถึงสามารถปรับประจำเดือนในสตรี ให้มาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งประกอบไปด้วย ยาจีน 2 ประเภท คือ 当归(ตังกุย) และ黄芪(หวงฉี) โดยที่

当归(ตังกุย) นั้นมีรสชาติหวานและเผ็ด มีฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณตับ หัวใจ และม้าม มีสรรพคุณหลักในการบำรุงเลือด ช่วยการไหลเวียนของเลือด ทำให้ประจำเดือนในสตรีมาสม่ำเสมอ ระงับอาการปวดและช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื้น 

黄芪(หวงฉี) ที่มีรสชาติหวาน มีฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และปอด มีสรรพคุณบำรุงชี่ ระงับเหงื่อที่ออกมากเกินไป ขับปัสสาวะลดอาการบวม และช่วยเพิ่มสารน้ำและเลือดในร่างกาย ทำให้ชี่ไหลเวียนดี




2. โจ๊กเมล็ดบัว ช่วยในเรื่องของการเพิ่มพลังลมปราณ บำรุงจิตใจ รวมถึงปรับความสมดุลของม้าม และกระเพาะอาหาร ประกอบไปด้วยยาจีน คือ莲子(เหลียนจื่อ) หรือในประเทศไทยเรียกว่า เมล็ดบัว มีรสชาติหวาน ฝาด เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ม้าม และไต มีสรรพคุณในการรักษา อาการเบื่ออาหารเนื่องจากการทำงานของม้ามที่ผิดปกติ และรักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง ช่วยชะลอวัย สงบจิตใจ หรือผู้ที่มีปัญหา ในการนอนไม่หลับ อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการเสริมความจำอีกด้วย

 


3. ไก่ผัดขิงและเห็ดหูหนูดำ ช่วยในเรื่องของการขับลม ในคนที่ชอบมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ประกอบไปด้วยยาจีน คือ生姜(เซิงเจียง) หรือที่เรียกกันว่า ขิงสด สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลอดทั่วไป โดยตัวยามีรสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าเส้นลมปราณปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณในการขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงสามารถแก้ไอ ขับเสมหะ และยังมีเห็ดหูหนูดำ(黑木耳)ซึ่งในทางแพทย์จีนก็ถือว่าเป็นยาบำรุงเลือด และเสริมพลังร่างกาย มีคุณสมบัติทางยาที่ ไม่ร้อน ไม่เย็นจนเกินไป มีรสหวาน เข้าเส้นลมปราณไต สามารถช่วยลดความร้อน หรือการเกิดความเย็นที่กระเพาะอาหารได้ รวมทั้งมีเส้นใยสูงช่วยในการขับถ่ายได้ดี

 




4. เต้าทึง 3 สหาย ช่วยในการปรับสมดุลอารมณ์ เพิ่มการหมุนเวียนเลือดลมในร่างกาย สงบจิตใจ และส่งเสริมการนอนหลับให้ได้ดียิ่งขึ้น โดยประกอบไปด้วย

พุทราจีน(大枣)รสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ม้าม และกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณในการบำรุงชี่ และสามารถบำรุงเลือด สงบจิตใจ แก้อาการนอนไม่หลับได้ดี ยาจีนตัวต่อมาที่ใส่ในเต้าทึง3สหายคือ

เก๋ากี๋(枸杞子)มีรสหวาน ฤทธิ์กลาง เข้าเส้นลมปราณตับ และไต มีสรรพคุณช่วยในการบำรุงสายตา และเส้นเอ็น รวมถึงแก้กระหายน้ำ ช่วยกระตุ้นการนอนหลับได้ดีขึ้น และยังสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย และมีสมุนไพรที่สามารถหาซื้อได้ง่ายอีกชนิดนั่นก็คือ

ลำไยแห้ง (龙眼肉)มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าเส้นลมปราณหัวใจ ม้าม มีสรรพคุณในการเพิ่มและบำรุงเลือด สงบจิตใจ รวมถึงแก้อาการใจสั่น นอนไม่หลับ หลงลืมง่าย





5. 3 ถั่วต้มน้ำผึ้ง ช่วยในการดับร้อน แก้ไอ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และให้ความชุ่มชื้นในลำคอ โดยประกอบไปด้วย

ถั่วเขียว(绿豆)มีรสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าเส้นลมปราณหัวใจ และกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณในการดับร้อนถอนพิษ แก้กระหายน้ำและยังสามารถขับความชื้น และน้ำที่ติดค้างภายในร่างกายได้ สมุนไพรชนิดที่ 2 คือ

ถั่วดำ(黑豆)มีรสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณไต มีสรรพคุณในการบำรุงไต ขับความร้อน รวมถึงสามารถบำรุงสายตาได้ดี 

ถั่วแดง(赤小豆)มีรสหวาน ฤทธิ์กลาง เข้าเส้นลมปราณหัวใจ และลำไส้เล็ก มีสรรพคุณในการขับพิษ ลดอาการปวดท้อง ลดอาการแน่นท้อง และสามารถระงับปวดได้ อีกทั้งยังมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ

น้ำผึ้ง(蜂蜜)มีรสหวาน ฤทธิ์เป็นกลาง เข้าเส้นลมปราณม้าม และลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณบำรุงร่างกายที่อ่อนแอ ให้ความชุ่มชื้น หรือมีอาการไอแห้งไม่มีเสมหะ หรือไอเรื้อรัง อีกทั้งยังสามารถช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น


                5 เมนูที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแพทย์แผนจีนนั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของอาหารเช่นเดียวกับการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค ชาวจีนโบราณกล่าวไว้ว่า การบำรุงด้วยยาไม่ดีเท่าบำรุงด้วยอาหาร เพราะเหตุผล ยา คือ อาหาร และอาหาร คือ ยา โดยที่การเลือกอาหารที่เหมาะสมสามารถเลือกตามสภาพของร่างกายแต่ละบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับร่างกายมนุษย์ และเกิดประโยชน์สูงสุด ดังคำกล่าวโบราณในคัมภีร์เน่ยจิงที่ว่า แพทย์ที่ดีจะต้องรักษาก่อนที่จะเจ็บป่วย (上工治未病)

 
แพทย์จีนอิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์

 

 

 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy